ความท้าทายในการทำธุรกิจในสิงคโปร์
25.07.2024สิงคโปร์เป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ, สตาร์ตอัป, หรือองค์กรระดับโลกที่ต้องการขยายธุรกิจสู่ตลาดเอเชียก็ตาม
สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจในการสำรวจและการจัดอันดับทางธุรกิจหลาย ๆ แห่ง โดยมักจะมีอันดับที่สูงกว่าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้สิงคโปร์จะเป็นเพียงเกาะเล็ก ๆ แต่ก็มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก ธนาคารโลกได้จัดให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความสะดวกในการทำธุรกิจเป็นอันดับสองของโลก
ทว่าแม้จะมีสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจที่โดดเด่น แต่การทำธุรกิจในสิงคโปร์ก็มีข้อเสียบางประการ ซึ่งสามารถส่งผลต่อธุรกิจทุกประเภท ไม่ว่าธุรกิจนั้นจะมีขนาดเท่าใดหรือยิ่งใหญ่เพียงใด เราจะมาพูดถึงข้อเสียเหล่านี้อย่างละเอียดกันครับ
เพื่อให้มองเห็นภาพรวมได้ดียิ่งขึ้น ขอแนะนำให้อ่านบทความนี้ควบคู่ไปกับการบทความเรื่องข้อดีของการทำธุรกิจในสิงคโปร์นะครับ
ค่าใช้จ่ายทางธุรกิจสูง
คนที่กำลังจะจัดตั้งธุรกิจที่สิงคโปร์จะพบว่าค่าเช่าเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่แพงที่สุด โดยสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีค่าเช่าที่แพงที่สุดในโลก ทว่าสิ่งที่แพงไม่ได้มีแค่ค่าเช่าครับ
ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคและค่าอินเทอร์เน็ตสำหรับธุรกิจนั้นมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจมีราคาสูงมาก นอกจากเรื่องค่าเช่าแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มีความท้าทายและมีค่าใช้จ่ายสูง คือการจัดหาและจ้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และเนื่องจากตลาดแรงงานมีต้นทุนสูง ความคาดหวังเกี่ยวกับเงินเดือนจึงสูงตามไปด้วย คุณจะพบว่าบริษัทจะต้องเสียรายได้ไปกับค่าใช้จ่ายคงที่ (fixed cost) จำนวนมาก
ปัจจัยที่กล่าวมาเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ในระดับภูมิภาค เนื่องจากประเทศใกล้เคียงมีต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก แม้สิงคโปร์จะยังเป็นตัวเลือกแรก ๆ สำหรับบริษัทข้ามชาติที่ต้องการเลือกสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางภูมิภาค แต่ต้นทุนที่สูงอาจทำให้สิงคโปร์เป็นตัวเลือกที่ไม่น่าดึงดูดนักสำหรับสตาร์ตอัปที่ต้องการควบคุมค่าใช้จ่าย
การจดทะเบียนบริษัท
การจัดตั้งและจดทะเบียนบริษัทจำกัดในสิงคโปร์เป็นเรื่องที่รวดเร็วและง่ายดาย หากเอกสารทุกอย่างถูกต้องครบถ้วน คุณสามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ทว่าปัญหาหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติมักพบเจอคือข้อกำหนดที่ว่า กรรมการบริษัทอย่างน้อยหนึ่งคนต้องเป็นผู้ที่มีถิ่นพำนักในประเทศสิงคโปร์
ข้อกำหนดเรื่องถิ่นพำนักของกรรมการบริษัทนี้ต้องถูกบังคับใช้ตลอดอายุการดำเนินงานของบริษัท ไม่ใช่แต่งตั้งขึ้นมาแค่เพียงช่วงที่เริ่มตั้งบริษัทเท่านั้น นั่นหมายความว่ากรรมการที่มีถิ่นพำนักในประเทศสิงคโปร์จะไม่สามารถลาออกหรือถูกปลดได้ จนกว่าจะมีกรรมการที่มีถิ่นพำนักในสิงคโปร์รายอื่นมารับตำแหน่งแทน
ธุรกิจบางแห่งอาจเลี่ยงปัญหานี้ด้วยการใช้บริการเลขานุการบริษัท ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเลขานุการบริษัท และจัดหากรรมการตัวแทน เพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้
หากบริษัทไม่สามารถรักษาตำแหน่งกรรมการบริษัทที่มีถิ่นพำนักในสิงคโปร์ให้อยู่ในตำแหน่งได้ อาจทำให้บริษัทตกที่นั่งลำบาก และกรรมการบริษัทอาจต้องเสียค่าปรับสูงถึง 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อราย
การเก็บภาษี
สิงคโปร์มีชื่อเสียงในด้านการเก็บภาษีที่ต่ำ และเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความซับซ้อนด้านภาษีและบัญชีน้อยที่สุดในเอเชีย โดยไม่มีการเก็บภาษีจากเงินปันผลของบริษัทหรือกำไรจากการขายสินทรัพย์
สิงคโปร์มีอัตราภาษีนิติบุคคล 17% โดยมีการลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 26% ในปี 2540 เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ
อัตราภาษีที่ต่ำทำให้ธุรกิจทั้งรายใหม่และรายเก่าสนใจมาทำธุรกิจที่สิงคโปร์ ทว่าธุรกิจทั้งหลายยังต้องทำตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ เพราะหากละเมิดกฎเหล่านี้ ก็จะมีบทลงโทษที่รุนแรง
บริษัทใหม่จะได้รับการยกเว้นภาษีจากรายได้จำนวน 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์แรกที่ต้องเสียภาษีในช่วงสามปีแรก ส่วนสามปีถัดไปจะได้รับการยกเว้น 75% จากรายได้จำนวนเดียวกัน สิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญสำหรับบริษัทขนาดเล็กที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจในสิงคโปร์
การกำกับดูแลที่เข้มงวด
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่น่าสนใจคือกฎหมายที่มีความโปร่งใสและมีความเข้มงวด ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการทุจริตและรักษาสภาพสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้มีความปลอดภัย ซึ่งแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียบางประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจทั้งรายใหม่และรายเก่าที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความมั่นคงจะให้ความสนใจในประเด็นนี้ แต่บริษัททั้งหลายก็ต้องใช้เวลาและทรัพยากรในการทำความเข้าใจกฎระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง
สิทธิ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา
สิงคโปร์เป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับโดยเสมอมาว่ามีกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ที่เข้มงวด จึงทำให้บริษัทด้านนวัตกรรมดำเนินงานได้อย่างปลอดภัย และเมื่อรวมกับการที่สิงคโปร์เป็นเมืองด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลที่มีความโดดเด่น โดยมีบริษัทชั้นนำอย่าง Facebook, Google, และ LinkedIn ตั้งอยู่ที่นี่ด้วย จึงทำให้สิงคโปร์เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีการสนับสนุนจากโครงการและสิ่งจูงใจจากรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม บริษัทระหว่างประเทศบางแห่งยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในสิงคโปร์ และรู้สึกว่ามาตรการการคุ้มครองอาจยังไม่เพียงพอ ดังนั้นทั้งนวัตกรและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังเพื่อให้ทรัพย์สินทางปัญญาของธุรกิจมีความปลอดภัยท่ามกลางอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
ปัญหาด้านแรงงาน
สิงคโปร์มีมาตรฐานการครองชีพที่สูง และมีค่าครองชีพที่แพง ทั้งที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ต่างก็มีราคาสูง จึงควรพิจารณาปัจจัยเหล่านี้เมื่อต้องการหาพนักงานเข้ามาทำงานในบริษัท นอกจากนี้ตลาดแรงงานยังมีการแข่งขันสูง ทำให้เงินเดือนสูงตามไปด้วย จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับสตาร์ตอัป ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียมีต้นทุนการจ้างงานที่ต่ำกว่า
สิงคโปร์มีกฎระเบียบที่เข้มงวดกับแรงงานต่างชาติ ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจที่เดิมก็ขาดแคลนด้านแรงงานอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังส่งผลให้เงินเดือนสูงขึ้น และทำให้ธุรกิจบางแห่งประสบกับปัญหาการจัดหาพนักงานได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้หลาย ๆ บริษัทมองหาแรงงานจากตลาดที่มีต้นทุนต่ำกว่า เช่น เวียดนาม
ข้อกำหนดในการขอใบอนุญาตทำงาน
ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในระดับใด ชาวต่างชาติที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจในสิงคโปร์และนำพนักงานต่างชาติเข้ามาทำงานต้องยื่นขอใบอนุญาตทำงานให้กับพนักงานทุกราย โดยกรมตรวจคนเข้าเมืองสิงคโปร์จะเป็นผู้ออกใบอนุญาตทำงาน และจะมีข้อกำหนดในการยื่นขอใบอนุญาตด้วย
พนักงานต่างชาติสามารถทำงานให้กับนายจ้างที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนงานได้ นอกจากนี้ยังห้ามทำงานอื่นหรือประกอบอาชีพอิสระนอกจากงานหลักที่ทำอยู่
การขอใบอนุญาตทำงานเป็นเรื่องที่ซับซ้อน อีกทั้งมีใบอนุญาตหลายประเภท เช่น Employment Pass, EntrePass, และ Personalised Employment Pass ซึ่งมักจะมีโควตาและข้อจำกัดตามจำนวนพนักงานสิงคโปร์และประเภทธุรกิจของคุณ
บริษัทส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากผู้ให้บริการด้านธุรกิจเพื่อดำเนินการในส่วนนี้ให้สำเร็จ
ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน
ในยุคหลัง COVID-19 หลาย ๆ ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงาน โดยเปลี่ยนมาเป็นการทำงานจากนอกสถานที่หรือการทำงานแบบไฮบริด ซึ่งหมายถึงการทำงานแบบผสมผสานทั้งแบบในสำนักงาน และทำงานนอกสถานที่ แต่ประเทศสิงคโปร์นั้นกลับต่างออกไป
สิงคโปร์ยังคงใช้ชั่วโมงการทำงานแบบ 5 วันต่อสัปดาห์ โดยมีชั่วโมงการทำงาน 35 ชั่วโมง ตั้ง 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นของทุกวัน ซึ่งถือเป็นข้อเสียสำคัญเมื่อต้องการจัดหาพนักงานใหม่เข้ามาทำงานในบริษัท เนื่องจากคนส่วนใหญ่เคยชินกับการทำงานแบบยืดหยุ่นหรือแบบไฮบริด ซึ่งเป็นการลดการเดินทางไปทำงาน หรือไม่ต้องเดินทางเลย อีกทั้งยังสามารถจัดการธุระในครอบครัวได้สะดวกยิ่งกว่า
เป็นที่ทราบกันดีว่าสิงคโปร์เป็นเมืองที่ทำงานหนักเป็นอันดับสองของโลก รองจากโตเกียว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าคนสิงคโปร์โดยเฉลี่ยนั้นทำงาน 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานนั้นไม่ใช่ปัญหาเสมอไป แต่ปัญหาคือชั่วโมงการทำงานที่ไม่สามารถยืดหยุ่นได้และต้องทำงานในสำนักงานตลอดเวลา ทำให้ความสมดุลระหว่างการชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวไม่ดีเท่าบางเมืองในทวีปยุโรปเหนือ
เหยื่อของความสำเร็จ
ประเทศสิงคโปร์เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่บริษัทต่างชาติ ทำให้ความต้องการบริการและแรงงานสูงขึ้น ส่งผลให้ตลาดสิงคโปร์มีความท้าทายและมีการแข่งขันสูงมาก บริษัทข้ามชาติหลายแห่งเข้ามาตั้งสำนักงานในระดับภูมิภาคในสิงคโปร์มาตั้งแต่อดีต เนื่องจากสิงคโปร์มีเสถียรภาพทางการเงินและการเมือง และสามารถเข้าถึงแรงงานที่มีการศึกษาสูงได้ ทว่าการแข่งขันอาจเข้มข้นขึ้นเมื่อประเทศเพื่อนบ้านก้าวตามทันสิงคโปร์และมีต้นทุนการทำธุรกิจที่ต่ำกว่า
สิงคโปร์เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับธุรกิจของคุณหรือไม่?
แม้การทำธุรกิจในสิงคโปร์จะมีข้อเสียอยู่บ้าง แต่ก็มีข้อดีหลายประการ โดยสิงคโปร์มักได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลกในแง่ของการทำธุรกิจ มาดูข้อดีบางส่วนในการทำธุรกิจในสิงคโปร์กันครับ
- สิงคโปร์ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในทวีปเอเชีย เป็นศูนย์กลางทางการค้าขนาดใหญ่ มีการเชื่อมต่อด้านการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเยี่ยม
- มีแรงงานที่มีทักษะสูงที่มีความมุ่งมั่นในการทำงาน และมีวัฒนธรรมในการทำงานที่มีความตั้งใจทำงานเป็นอย่างมาก
- มีระบบเศรษฐกิจที่เป็นแบบเปิด, โปร่งใส, และแข็งแกร่ง โดยมีพื้นฐานที่ดีจากการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ และความมีเสถียรภาพทางการเมือง
- สิงคโปร์มีเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ
- อัตราภาษีนิติบุคคลในสิงคโปร์ต่ำ และไม่มีการเก็บภาษีจากเงินปันผลหรือกำไรจากขายหลักทรัพย์ บริษัทใหม่จะได้รับการลดหย่อนภาษีและสิทธิประโยชน์ในช่วงสามปีแรกของการดำเนินการ
- ชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ได้ 100% โดยที่ไม่ต้องมีผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนที่เป็นชาวสิงคโปร์
- ไม่จำกัดการส่งเงินกำไรกลับประเทศ
- สามารถนำเข้าหรือส่งออกเงินตราต่างประเทศได้ไม่จำกัด
สรุป
จุดแข็งบางประการของสิงคโปร์อาจกลายเป็นความท้าทายและจุดอ่อนของธุรกิจทั้งรายใหม่และรายเก่าในประเทศสิงคโปร์ การตัดสินใจว่าจะเลือกสิงคโปร์เป็นที่ตั้งในการทำธุรกิจหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ และพิจารณาว่าข้อเสียของการทำธุรกิจที่นี่มีมากกว่าข้อดีหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือ บริษัทต้องพิจารณาจากข้อมูลหรือความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยในการตัดสินใจ และเพื่อให้สามารถอยู่รอดและประสบความสำเร็จในเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้
สิงคโปร์มีโอกาสทางธุรกิจมากมาย และสำหรับบริษัทส่วนใหญ่แล้ว สิงคโปร์ก็ยังมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ทว่าการมีต้นทุนในการทำธุรกิจที่สูง ทำให้ธุรกิจบางประเภทหาพนักงานที่เป็นคนในประเทศได้ยาก อีกทั้งยังต้องทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ธุรกิจด้านนวัตกรรมได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เองที่ทำให้สิงคโปร์อาจไม่ได้เหมาะกับธุรกิจทุกประเภท